เตรียมบุคลากรพร้อมรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve)

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วสำหรับแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรม เพราะเมื่อมีการเกิดขึ้น เติบโต และถดถอย ซึ่งเขาเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า S-curve โดยถ้านึกภาพตามจะเห็นเป็นเส้นโค้งแสดงระยะความสามารถทางธุรกิจซึ่งได้แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 Initial Slow Growth State – เป็นช่วงแรกของการทำธุรกิจซึ่งมีการเติบโตอย่างช้า ๆ  เช่น อยู่ระหว่างทดลองตลาด หรือ ยังไม่มีลูกค้าจำนวนมาก ในระยะนี้บางบริษัทยังอาจอยู่ในภาวะขาดทุน

ระยะที่ 2 Rapid Growth State – เป็นระยะที่ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว สินค้าและบริการติดตลาดและเป็นที่นิยมในหมู่ลูกค้าจำนวนมา และมีรายได้เพิ่มขึ้นรวดเร็วสร้างผลกำไรได้สำเร็จ

ระยะที่ 3 Slow Growth State – เป็นระยะที่ธุรกิจชะลอตัวและเติบโตช้าลง สินค้าและบริการเริ่มเก่า ลูกค้าเริ่มเบนความสนใจไปยังสินค้าและบริการอื่น ๆ รายได้ยังคงเพิ่มขึ้นแต่ไม่มากเหมือนก่อน

ระยะที่ 4 Declining State – เป็นระยะที่ธุรกิจเริ่มถดถอย ความต้องการสินค้าและบริการลดลง รายได้และกำไรเริ่มลดลง สาเหตุเนื่องจากมาพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป หรือมีคู่แข่งในตลาดมากขึ้น  

ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยพิจารณาในเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจและการเติบโต ดังนี้

1) กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) – กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในประเทศและมีมูลค่าสูง แต่มีช่วงการเติบโตทางเศษฐกิจในระยะสั้นถึงระยะกลางเท่านั้น ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next – Generation Automotive), อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics), อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism), การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology), อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)

2) กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) – กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะมาเติมเต็มและต่อยอดกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม แม้ว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจะไม่สูงเท่ากลุ่มเดิม แต่มีความจำเป็นเพื่อให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อได้ในระยะยาว และเป็นกลไกที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (New Growth Engines) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics), อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics), อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Bio-chemicals), อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital), อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ในหลาย ๆ บริษัทชั้นนำก็ได้เริ่มลงทุนในธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคตนี้แล้วเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้  มีปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่เป้าหมาย นั่นก็คือ “บุคลากร” ที่วันนี้เราได้มีการเตรียมการพัฒนาและเตรีมความพร้อมด้านนี้ไว้แล้วหรือยัง ซึ่งในการเตรียมการด้านบุคคลากรนั้นมีกลยุทธ์สำคัญ ๆ ที่ใช้กันทั่วไปมี 3 รูปแบบดังนี้  

รูปแบบที่ 1 Build คือ การสร้างและพัฒนาบุคลากรเองในองค์กร โดยลงทุนด้านการฝึกอมรมและพัฒนาทักษะ Up-skills และ Re-skills ที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการขององค์กร ข้อดีก็คือ ไม่สูญเสียบุคลากรเดิมที่มีอยู่ใช้เวลาไม่มากในการปรับตัว แต่ข้อเสียคือ บุคลากรเดิมอาจไม่กระตืนรืนร้นในการพัฒนาตนเองมากนักและที่น่ากังวลคือ การถูกซื้อตัวไปอยู่องค์กรอื่นหรือย้ายงานเมื่อได้ทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการแล้ว

รูปแบบที่ 2 Buy คือ การซื้อตัวบุคลากรที่มีความสามารถและมีทักษะเป็นที่ต้องการเข้ามาทำงานข้อดีคือ มีทักษะพร้อมทำงาน ข้อเสียคือ การปรับตัวเข้ากับสังคมและกระบวนการทำงานใหม่ที่อาจเป็นอุปสรรค หรือที่ร้ายแรงกว่าคือ ทักษะและประสบการณ์ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ ทำให้องค์กรต้องจ่ายค่าแรงสูงแต่ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง

รูปแบบที่ 3 Borrow การยืมตัวบุคลากรข้ามหน่วยงานหรือข้ามองค์กรเพื่อให้เข้ามาถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทักษะและประสบการณ์ เช่น ที่ปรึกษา หรือวางแผนรากฐานคล้าย ๆ การสร้างบุคลากร ข้อดีคือ เป็นการลงทุนระยะสั้น ข้อเสียคือ อาจเกิดรอยต่อในการส่งมอบงาน หรือบุคลากรขององค์กรรับความรู้มาไม่ครบทำให้ไม่สามารถต่อยอดในการทำงานได้

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ในการจัดเตรียมทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสมนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจและกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ในกลุ่มธุรกิจประเภท Core Disruptor เช่น Software, Technology, Telecom, Media ต้องการบุคลากรที่มีทักษะสูงเพื่อเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงองค์กรด้วยเทคโนโลยี การ Build และ Buy ดูจะเป็นวิธีที่เหมาะสมเพราะรวดเร็วและทันสถานการณ์ความต้องการ โดยไม่สูญเสียบุคลากรเดิมที่อยู่ในองค์กรมานาน

ทั้งนี้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ออกแนวทางในการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม New S-curve ในกรอบระยะเวลา 5 ปี โดยมี 5 แนวทาง ดังนี้

1) สร้างระบบผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ โดยปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นสูงให้บูรณาการการเรียนรู้กับการทำงานในรูปแบบ Work-integrated Learning การดึงดูดและใช้ประโยชน์จากผู้มีศักยภาพสูง (Talent Utilization) รวมถึงการเคลื่อนย้ายบุคลากรระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทักษะประสบการณ์ (Talent Mobility)

2) ผลิตคนกำลังสูงรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยสำรวจความต้องการบัณฑิตของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC เพื่อพัฒนาหลักสูตรในสถาบันศึกษาให้สอดคล้องและได้ตามความต้องการ เช่น การศึกษาแบบ Sandbox หรือหลักสูตร Work-integrated Learning

3) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการสร้างทักษะเพื่ออนาคต โดยพัฒนาทักษะบุคลากรวัยทำงาน (Upskill, Reskill) ผ่านรูปแบบต่าง ๆ เช่น ระบบธนาคารหน่วยกิต หรือ หลักสูตรระยะสั้น Micro-credential พร้อมกันนี้ต้องสร้างพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาทักษะแห่งอนาคต

4) ส่งเสริมปัญญาประดิษฐ์ซึ่งจะเป็นฐานในการขับเคลื่อนประเทศได้ในอนาคต โดยสร้างความเข้าใจและทักษะด้าน AI ให้แก่เยาวชนตลอดจนถึงคนทำงาน และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ AI ในกระบวนการผลิตเพิ่มมากขึ้น

5) ปฏิรูประบบการอุดมศึกษาไทย โดยกำหนดกลุ่มผลลัพธ์ (Strategic Position) ของสถาบันอุดมศึกษา จัดสรรงบประมาณของสถาบันอุดมศึกษาใหม่แบบเน้นอุปสงค์ (Demand-side) เพื่อให้ได้กำลังคนที่เป็นที่ต้องการ พัฒนามาตรฐานและคุณภาพหลักสูตรเดิมให้เกิดการทดลองนวัตกรรมแบบ Sandbox  ทลายกรอบและข้อจำกัดเดิม ๆ ของสถาบันฯ และอาจารย์ให้มีความเป็นผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  หรือ สกพอ. ประมาณการความต้องการบุคลากรในเขต EEC ในปี 2562-2566 ไว้ที่ 475,668 อัตรา โดยอุตสาหกรรมที่มีความต้องการมากที่สุดคือ สาขาดิจิทัล ที่คาดว่าจะมีความต้องการถึง 116,222 อัตรา คิดเป็น 24% โดยตำแหน่งที่มีความต้องการมากที่สุดในสาขานี้คือ Data Scientist, Fill-stack Developer, Web Developer รองลงมาคือสาขาโลจิสติกส์ 109,910 อัตรา คิดเป็น 23%

ปัจจุบันการเรียนนอกห้องเรียนและนอกหลักสูตรสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีคอร์สเรียนออนไลน์โดยผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากให้เรา Up-skill, Re-skill แบ่งเป็นหลายระดับให้เรียนรู้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย บางแห่งเพียงเพิ่มเงินเพียงเล็กน้อยก็จะได้รับใบประกาศที่ใช้เป็นใบเบิกทางเข้าทำงานในองค์กรบางแห่งได้

นอกจากทักษะเชิงความรู้ที่ต้องพัฒนาให้พร้อมสำหรับอนาคตแล้ว ทักษะเชิงสังคม (Soft skills) ก็มีความสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเพราะเป็นทักษะที่จะทำให้เราอยู่ร่วมในสังคมการทำงานที่หลากหลายและสามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีอีกด้วย  ดังนั้น ในยุคของการเปลี่ยนแปลงจึงต้องพัฒนาคนให้มีความพร้อม สามารถปฏิบัติงานได้ตรงตามที่องค์กรคาดหวัง ร่วมพัฒนาสินค้าและบริการที่สร้างคุณค่าให้แก่สังคม เพื่อนำพาองค์กรและประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืนอ้างอิง

อ้างอิง

  • www.nxpo.or.th/th/wp-content/uploads/2019/09/DemandNewSCurve.pdf
  • www.salika.co/2022/01/16/10-disciplines-scurve-in-eec/