นวัตกรรมด้านการเกษตรกับความท้าทายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ปัญหาการเปลี่ยนสภาพอากาศที่เลวร้าย และข้อจำกัดด้านที่ดิน สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อภาคเกษตรกรรม  

การบูรณาการด้าน Agritech จึงเป็นโอกาสที่น่าตื่นเต้นของภาคการเกษตร และคาดว่าจะเห็นเทรนด์เทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูงที่หลากหลายในการขับเคลื่อนการเติบโตและความยั่งยืนของภาคการเกษตร

จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คาด รวมทั้งสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น ภาคการเกษตรจึงต้องให้ความสำคัญกับการทำเกษตรแบบยั่งยืน โดยอุตสาหกรรมนี้มีส่วนอย่างมากในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งมนุษย์เองก็มีส่วนในการรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ประมาณ 21–37% ของการปล่อยก๊าซประจำปี) เช่น มีเทนและไนตรัสออกไซด์ 

ดังนั้น จึงมีความชัดเจนมากขึ้นว่า ในปี 2565 นี้แนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรแบบยั่งยืนจะได้รับความสำคัญเป็นพิเศษเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในภาคการเกษตรสามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งระบบอัตโนมัติในฟาร์ม ซึ่งเป็นเทรนด์การเกษตรที่เกิดขึ้นใหม่จะเป็นตัวบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงสู่การทำฟาร์มอัจฉริยะ ที่ช่วยทำให้สามารถใช้เวลาและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยลดการสูญเสียพืชผลอีกด้วย

การทำฟาร์มอัจฉริยะเป็นแนวคิดที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยี เช่น Internet of Things (IoT), คอมพิวเตอร์วิทัศน์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) และในการทำฟาร์มหุ่นยนต์นั้นโดรนกำลังเป็นตัวเร่งระบบอัตโนมัติในฟาร์มซึ่งจะเข้าแทนที่การดำเนินการในฟาร์มแบบแมนนวล เช่น การเก็บผลไม้ การฆ่าวัชพืช หรือการฉีดพ่นน้ำ ทั้งนี้ ภาพถ่ายที่ได้จากโดรนและดาวเทียม ที่ใช้ร่วมกับ Global Positioning System (GPS) นั้นให้ความละเอียดสูงและมีมุมมองเฉพาะตำแหน่งของสนามด้วย

นอกจากนี้ อุปกรณ์ IoT ซึ่งขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีเซนเซอร์ จะรวบรวมข้อมูลภาคสนามตามเวลาจริงที่ช่วยให้เกษตรกรทำการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลเป็นหลัก  เพราะนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้

ในปี 2564 มูลค่าตลาดเทคโนโลยีการเกษตรทั่วโลก (Agitech) อยู่ที่ประมาณ 10.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในปัจจุบันภายในปี 2568  และจะสูงถึง 46,372.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573

เทคโนโลยีการเกษตร กำลังได้รับความนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและการระบาดของ COVID-19 มาเป็นตัวกระตุ้น ซึ่งภาคการเกษตรมีส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อมูลของธนาคารโลกการเกษตรมีสัดส่วนประมาณ 11% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอาเซียนในปี 2563

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการเกษตรทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้และยังได้รับแรงหนุนจากภาวะโลกร้อน 

จากรายงานการวิจัยปี 2564 ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2561 ภูมิภาคนี้ประสบความ สูญเสียด้านพืชผลและปศุสัตว์ มูลค่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัญหาภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ และสถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ที่ส่งผลให้แรงงานภาคเกษตรขาดแคลน และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกเกิดการหยุดชะงักจากการระบาดใหญ่ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตทางการเกษตรโดยรวมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลดลง 3.1% (29.58 ล้านตัน) และ GDP ในภูมิภาคลดลง 1.4% (3.76 พันล้านเหรียญสหรัฐ)

ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ ยังมีอุปสรรคมากมาย และอุตสาหกรรมการเกษตรของภูมิภาคนี้กำลังปรับตัวขนานใหญ่โดยมีการนำเทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรมมาใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจกรรมการทำฟาร์มในชนบทและในเมือง

จากปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นเทคโนโลยีดิจิทัลจึงมีความสำคัญต่อการปรับปรุงให้เกษตรกรมีความยืดหยุ่นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความท้าทายของ COVID-19 รวมทั้งการเติบโตของจำนวนประชากรที่ทำลายสถิติ ซึ่งวิธีเดียวที่จะทำให้แน่ใจว่ามีอาหารเพียงพอสำหรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นคือ การใช้นวัตกรรมด้านการเกษตร เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของอนาคตที่ยั่งยืน

Sources: StartUs Insights, World Bank, Spherical Insights & Consulting