ตลาดบ้านอัจฉริยะแนวโน้มโต ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

บ้าน หรือที่อยู่อาศัยถือเป็น 1 ในปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิตของมนุษย์ ที่ผ่านมารูปแบบและการใช้ประโยชน์จากที่อยู่อาศัยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากปรับปรุงรูปแบบให้มีความเหมาะสมกับชีวิตในแต่ยุคแล้วยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้อยู่อาศัย

ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้บ้านเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัยทั่วไป แต่เป็นที่ที่ให้ทั้งความสนุกและความบันเทิง โดยเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้เจ้าของที่อยู่อาศัยสามารถจัดการทุกสิ่งทุกอย่างภายในบ้านของตนเองได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ภายในบ้าน  ซึ่งเราเรียกบ้านแบบนี้ว่า บ้านอัจฉริยะ (Smart Home)

บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) คือ การนำอุปกรณ์ที่สามารถส่งสัญญานผ่านอินเทอร์เน็ตมาทำงานร่วมกับซอฟท์แวร์บนโทรศัพท์มือถือ ทำให้สามารถควบคุมระบบไฟฟ้า อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือ ระบบรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ ภายในที่อยู่อาศัยด้วยการกดปุ่มสั่งการผ่านสมาร์ทโฟนหรือแผงควบคุมภายในบ้าน รวมถึงการสั่งงานด้วยเสียง (Voice command) ช่วยให้เจ้าของที่อยู่อาศัยสามารถควบคุมการเปิดปิดอุปกรณ์ในที่อยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย  อีกทั้งยังมีความปลอดภัย ประหยัดเวลา  และประหยัดการใช้พลังงานอีกด้วย

ทั้งนี้ บ้านอัจฉริยะมีองค์ประกอบหลัก 3 ประการคือ
1.) ระบบเครือข่ายอัจฉริยะ (Smart Home Network) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับสัญญาณระหว่างอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ และเครือข่ายไร้สาย
2.) ระบบควบคุมอัจฉริยะที่ควบคุมให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้านเชื่อมต่อและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่วนมากเป็นรูปแบบของซอฟท์แวร์บนโทรศัพท์มือถือ หรือแผงควบคุมในบ้าน
3.) อุปกรณ์อัจฉริยะ ซึ่งก็คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่รองรับการเชื่อมต่อไร้สายสามารถเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ได้ ยกตัวอย่างเช่น กลอนอัจฉริยะ ไฟอัจฉริยะ ระบบรักษาความปลอดภัย เป็นต้น

ปัจจุบันการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายส่งผลให้มูลค่าตลาดเติบโตเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จากมูลค่าตลาดในปี 2017 อยู่ที่ 39,820 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้นมาเป็น 115,670 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องถึง 195,200 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2026 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 13.97% ต่อปี

จากตัวเลขมูลค่าการตลาดที่สูงขึ้น เป็นผลโดยตรงมาจากการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เป็นบ้านอัจฉริยะซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2017 มีจำนวนบ้านอัจฉริยะ 141.91 ล้านหลัง และขยายตัวโตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 302.97 ล้านหลังในปี 2022 และคาดว่าจะเติบโตถึง 478.22 ล้านหลังในปี 2025

สำหรับประเทศไทยก็เริ่มมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการเติบโตของตลาดโลก จากปี 2017 ตลาดบ้านอัจฉริยะในประเทศไทยมีมูลค่าที่ 18.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวมาเป็น 149.30 ล้านเหรียญสรัฐในปี 2022 และจะปรับสูงขึ้นถึง 318.1 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2026 มีอัตราการเติบโต 20.82% ต่อปี

สิ่งที่หน้าสนใจคือ กลุ่มที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในตลาดบ้านอัจฉริยะ คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยในปี 2022 มีส่วนแบ่งการตลาดบ้านอัจฉริยะอยู่ที่ 48.96% แต่ถ้าวิเคราะห์การเติบโตตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2026 กลุ่มที่มีอัตราการการเติบโตมากที่สุด คือ กลุ่มการจัดการพลังงานที่มีการเติบโตระหว่างปี 2017 ถึง  2026 ที่ 2,075%

ส่วนกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตน้อยที่สุดคือ ความบันเทิงในบ้าน ซึ่งมีการเติบโตระหว่างปี 2017 ถึง 2026  ที่ประมาณ 946%  แสดงให้เห็นว่าผู้อยู่อาศัยให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดพลังงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตและผู้ให้บริการในประเทศสนใจตลาดนี้เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่การขายอุปกรณ์ รวมถึงการติดตั้งด้วย

คุณเอกราช ปัญจวีณิน  กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ให้สัมภาษณ์ Marketing Oops! ในเดือนธันวาคมปี 2021 เกี่ยวกับตลาดบ้านอัจฉริยะในประเทศไทยที่น่าสนใจไว้ถึง 4 ประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ คือ

1.) ความปลอดภัย : เป็นประเด็นที่คนไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะอุปกรณ์เพื่อการติดตามดูแล การป้องกันสิ่งต่าง ๆ เช่น ดิจิทัล ดอร์ล็อค, กล้อง CCTV, เซ็นเซอร์ต่าง ๆ เป็นต้น
2.) ความบันเทิง : เช่น กล่อง หรือแอปพลิเคชั่นเพื่อความบันเทิง
3.) ความสะดวกสบาย : จากความต้องการของกลุ่ม New Generation ที่กำหนดตารางชีวิตในแต่ละวันอย่างชัดเจน จึงมองหาอุปกรณ์ออโตเมชั่นที่เข้ามาอำนวยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การใช้แอปพลิเคชั่นควบคุมการเปิด – ปิด เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
4.) คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น : ประเด็นนี้ถือเป็น Well-being ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ อุปกรณ์ที่จัดเป็น Medical Grade, Medical Devices และกลุ่ม Preventive Living เช่น อุปกรณ์ออกกำลังกาย, เครื่องชั่งน้ำหนัก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้บริโภคชาวไทยเริ่มปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่มีความสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เป็นข้อจำกัด เช่น ช่วงอายุของผู้อยู่อาศัย ซึ่งกลุ่มผู้มีอายุน้อยหรือกลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำงานจะปรับตัวได้รวดเร็วกว่า เพราะเข้าใจเทคโนโลยีมากกว่ากลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุสูง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์อัจฉริยะที่มีราคาสูงกว่าอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป และยังมีปัจจัยในการติดตั้งที่อุปกรณ์อัจฉริยะบางประเภทจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ตลาดนี้จึงยังมีความท้าทายสำหรับผู้ผลิตเพื่อจะมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

SOURCES: STATISTA, SCBEIC, MARKETINGOOPS, CARRIERTHAILAND, DATAREPORTAL