ดัชนีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CCPI) ปี 2022

วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกของเรา ซึ่งแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดความรุนแรงของภัยคุกคามในครั้งนี้ ก็คือ  การลดภาวะก๊าซเรือนกระจก และต้องควบคุมอุณหภูมิความร้อนของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสตามสนธิสัญญาปารีส  

จากข้อตกลงดังกล่าว ได้มีการกำหนดตัวชี้วัด ที่เรียกว่า Climate Change Performance Index (CCPI) หรือ ดัชนีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้น เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ ประเมิน และติดตามความสามารถในการปกป้องสภาพภูมิอากาศของประเทศต่างๆ รวมกว่า 61 ประเทศที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน  

CCPI มี 14 ตัวชี้วัด ซึ่งได้แบ่งสัดส่วนคะแนนเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ การปล่อยก๊าสเรือนกระจก 40%,  พลังงานหมุนเวียน 20%, การใช้พลังงาน 20% และ นโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ 20%  (รายละเอียดดังในภาพ)

ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก, พลังงานทางเลือก และ การใช้พลังงาน ได้ใช้หลักเกณฑ์การประเมินในเชิงปริมาณ โดยพิจารณาจากตัวชี้วัด ประกอบด้วย Current Level, Past Trend, Well-Below-2°C Compatibility of the Current Level, และ Well-Below-2°C Compatibility of the Countries’ 2030 Target โดยอ้างอิงแหล่งข้อมูลจาก IEA, PRIMAP, FAO, และ UNFCCC

ส่วนนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นการประเมินในเชิงคุณภาพ โดยดูจากนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศและระดับสากล ในการกำหนดทิศทางการใช้พลังงานและพลังงานทางเลือก ที่จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกลดลง  

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์โควิดจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 5.4% แต่ก็ได้มีการคาดการณ์ว่า หลังผ่านพ้นวิกฤตจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้น 4.8% เทียบกับช่วง ม.ค.-ก.ค. ปี 2021 ซึ่งใกล้กับค่าสูงสุดในปี 2019 และการที่จะทำให้อุณหภูมิของโลกลดลง 1.5°C  การปล่อยก๊าซฯ ควรอยู่ในอัตราเดียวกับช่วงที่โควิดระบาดในปี 2020

ทั้งนี้ จากการจัดอันดับ CCPI Rankin 2022 พบว่า ไม่มีประเทศใดทำคะแนนได้เข้าเกณฑ์ สูงมาก (Very High) ติด 3 อันดับแรก   และประเทศที่ทำได้สูงสุดในอันดับที่ 4 คือ เดนมาร์ก ซึ่งมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 70% ในปี 2030  โดยสภาอิสระด้านสภาพแวดล้อม หรือ Danish Council on Climate Change (DCCC)  ได้ประเมินว่า รัฐบาลยังต้องปรับปรุงนโยบายในภาคการเกษตรและการขนส่ง โดยยังมีจุดอ่อนเกี่ยวกับนโยบายการใช้รถพลังงานไฟฟ้า และการใช้พลังงานจากชีวมวลซึ่งเป็นพลังงานหลักของประเทศ  และจากการที่เดนมาร์กได้ร่วมมือกับประเทศคอสตาริกาสร้างพันธมิตร Beyond Oil & Gas โดยมุ่งที่จะขับเคลื่อนให้หลาย ๆ  ประเทศลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า เดนมาร์กจะสามารถเข้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางด้านสภาพภูมิอากาศได้ในปี 2040 เร็วกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2050 เดนมาร์กจึงนับเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านนโยบายอย่างมาก

นอกจากนี้   ประเทศออสเตรเลีย ก็มีความน่าสนใจ โดยอยู่ในอันดับที่ 59  ซึ่งมีนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศบนฐานของการลงทุนทางเทคโนโลยี หรือ Technology Investment Roadmap (TIR) มุ่งใช้เทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซภายในปี 2040 และถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะมีการประกาศแผนระยะยาวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 แต่ก็ไม่มีนโยบายหรือมาตรการที่จะสนับสนุนความตั้งใจดังกล่าวอย่างชัดเจน ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า TIR นั้นไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะลดคาร์บอนในเชิงเศรษฐกิจ รวมทั้งลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การโปรโมทพลังงานหมุนเวียน และการกำหนดปริมาณก๊าซ GHG ที่จะลดลง และยังพบว่า มีปัญหาการไม่ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังภายในประเทศ และนักการเมืองที่มีแนวคิดที่ไม่ยอมรับข้อเท็จจริงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

สำหรับประเทศไทยอยู่ในกลุ่มระดับปานกลาง โดยอยู่ในอันดับ 31 โดย ผู้เชี่ยวชาญของ CCPI ชี้ถึงปัญหาของประสิทธิภาพของนโยบายเรื่อสภาพภูมิอากาศว่า ยังขาดความพร้อม และการลงมือปฎิบัติอย่างจริงจังของหน่วยงานของทั้งรัฐและเอกชน แต่ยังมีสัญญาณที่ดีจากมาตรการบรรเทาทุกข์ในภาคพลังงานและการขนส่ง จากมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับชาติ (NAMA) ปี 2015 โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างการวางกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดสำคัญไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

ทั้งนี้ ยังมีประเด็นเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน ปี 2036 ของไทยที่ต้องพิจารณา เพราะยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตราฐานของการลดความร้อนของโลกลง 1.5°C ภายใต้ข้อตกลงปารีส ถึงแม้จะมีมาตรการช่วยเหลือทางการเงินออกมาแล้วก็ตาม แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่ อีกประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญเป็นกังวลคือ แผนการขยายการใช้พลังงานถ่านหิน ชึ่งหากเป็นจริงจะทำให้ความพยายามการลดการใช้พลังงานถ่ายหินถูกเลื่อนกำหนดออกไปเป็นปี 2069 แทน

อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ภาคการผลิตอุตสาหกรรม แรงงานขาดแคลน และการเกิดโรคระบาด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบลูกโซ่จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนอกจากส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลาย ๆ ด้านอีกด้วย เช่น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) เป็นต้น 

สภาพอากาศที่แปรปรวนจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค โดยประเทศที่มีรายได้ต่ำจะได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากปัจจัยของโครงสร้างพื้นฐานในประเทศและความสามารถในการปรับตัว ส่วนในระดับจุลภาคทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นระหว่างคนรวยและคนจนยิ่งขึ้นไปอีก ประเทศไทยเองก็นับเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญญาทางเศรษฐกิจได้ง่าย ดังนั้นภาครัฐและเอกชนควรรีบดำเนินการตามแผนการและมาตรการต่าง ๆ อย่างจริงจังมากขึ้นรวมทั้งการให้ความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกรับรู้ความรับผิดชอบต่อโลกและสังคมในภาคประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

อ้างอิง

  • https://ccpi.org/download/climate-change-performance-index-2022-2/
  • https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_02Sep2019.aspx