จับตาสถานการณ์โลกร้อนและการปล่อยแก๊สเรือนกระจก

Photo by Chris LeBoutillier

“ปัญหาโลกร้อน” หลายคนอาจจะก็ยังคงคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว  แต่จริง ๆ  แล้วเข้าใกล้เรามาทุกขณะ และส่งสัญญาณเตือนมาเป็นระยะ ๆ จากปรากฎการณ์น้ำแข็งขั้วโลกละลาย เกิดพายุฝนฟ้าคะนองหนักสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้หลายพื้นที่ในโลกเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่ม ประชาชนเดือดร้อนอย่างหนัก นี่คือ ปรากฎการณ์ที่เกิดจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ หันมาเอาจริงเอาจังกันมากขึ้น

ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งก็คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ที่ เป็นตัวการหลักทำให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจก หรือ Greenhouse Gas (GHG) เพราะ CO2 สามารถคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ยาวนานถึง 450 ปี

จากข้อมูลล่าสุดโดย IEA รายงานว่าในปี 2021 โลกปล่อย CO2 ถึง 36,300 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 6% ประเทศที่ปล่อย CO2 มากที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2020 ได้แก่ จีน 11,680.42 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.5%, สหรัฐอเมริกา 4,535.30 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนหน้า 9.9% , อินเดีย 2,411.73 ล้านต้น ลดลงจากปีก่อนหน้า 5.9%, รัสเซีย 1,674.23 ล้านต้น ลดลงจากปีก่อนหน้า 5.8%, และญี่ปุ่น 1,061.77 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนหน้า 6.8%  

สำหรับประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน รายงานว่า ครึ่งปีแรกของปี 2022  ไทยปล่อย CO2 โดยรวมอยู่ที่ 132 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.8% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยกิจกรรมรายสาขาที่ผลิต CO2 เยอะที่สุด ได้แก่ ภาคการผลิตไฟฟ้า 43 ล้านตัน, ภาคอุตสาหกรรม 42.6 ล้านตัน, ภาคการขนส่ง 39.2 ล้านตัน, และภาคอื่นๆ เช่น ครัวเรือน, เกษตรกรรม, พานิชยกรรม รวมเป็น 7.2 ล้านตัน

ทั้งนี้ ไทยมีการปล่อย CO2 ต่อการใช้พลังงานอยู่ที่ 2,050 ตัน/KTOE ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกและมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปีก่อน การปล่อย CO2 ต่อประชากรอยู่ที่ 3.7 ตัน/ประชากร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกแต่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชีย และมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน

ส่วนการปล่อย CO2 ต่อ GDP อยู่ที่ 23.4 ตัน/ล้านบาท และการปล่อย CO2 ต่อการผลิตไฟฟ้า อยู่ที่ 0.4 กิโลกรัม/kWh ทั้งสองมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน แต่ก็มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกและประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม การปล่อย CO2 ไม่ใช่ตัวชี้วัดของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเสมอไป เมื่อนำตัวชี้วัด GDP มาเปรียบเทียบกับการปล่อย CO2 จะพบว่าในบางประเทศที่มีการปล่อย CO2 น้อยลงแต่กลับมีค่า GDP ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น ประเทศอังกฤษที่ GPD และ CO2 Emission มีแนวโน้มสวนทางกันตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา  ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก การลดสัดส่วนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ

เมื่อมองกลับมาดูที่ประเทศไทยยังพบว่า การปล่อย CO2 และ GDP ยังมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน หากพิจารณาในมุมของเชื้อเพลิงยังพบว่าไทยมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

คุณธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย ได้ให้ความเห็นถึงแนวทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission  ว่า ต้องเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (systemic change) ทั้งด้านนโยบาย เทคโนโลยีและพฤติกรรม ซึ่งภายใต้ความตกลงปารีสที่มีเป้าหมายควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่ 1.5 องศานั้น จะต้องปฏิวัติระบบพลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี พ.ศ.2593 ซึ่งนอกจากการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนแล้ว การลดปริมาณการปล่อยก็เป็นแนวทางที่สำคัญ  เช่น ลดการใช้ถ่านหินผลิตพลังงาน ลดบริโภคเนื้อสัตว์ ลดการปล่อย CO2 ในอุตสาหกรรมหนักและการขนส่ง รวมถึงการปรับปรุงให้เป็นอาคารและโรงงานที่ประหยัดพลังงาน

ปัจจุบันหลายองค์กรได้ตั้งเป้าหมายและเริ่มดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังแล้ว โดยในปี 2564 เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network) และ Carbon Markets Club และตั้งเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 ด้วยการมุ่งเน้นการบริหารจัดการพลังงานและทรัพยากรให้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด รวมถึงการหันมาใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น ตลอดจนส่งเสริมผู้ที่อยู่ร่วมในห่วงโซ่อุปทานให้ลดการผลิต CO2 อีกด้วย

อ้างอิง

  1. https://www.reanrooclimatechange.com/Learning/Pages/Learning-greenhouse-gases-reason-behind-climate-change.aspx
  2. https://www.iea.org/reports/global-energy-review-co2-emissions-in-2021-2
  3. https://www.statista.com/statistics/276480/world-carbon-dioxide-emissions-by-sector/
  4. http://www.eppo.go.th/index.php/th/energy-information/static-energy/static-co2
  5. https://ourworldindata.org/
  6. https://www.greenpeace.org/thailand/story/20621/climate-renewable-energy-thailand-net-zero-emission-plan/
  7. https://www.cpgroupglobal.com/storage/document/sustainability-reports/2021/sustainability-report-2021-th.pdf