การขนส่งสินค้าทางอากาศ โอกาสและอนาคตหลังวิกฤติโควิด-19

การขนส่งทางอากาศ เป็นวิธีที่เร็วที่สุดในบรรดาการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ เนื่องจากระยะเวลาในการจัดส่งสั้นกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น อีกทั้ง คลังสินค้ามีปริมาณน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเรือบรรทุกสินค้า ทำให้เวลาของขั้นตอนพิธีการทางศุลกากรนั้นกว่าจึงสะดวกรวดเร็วและยังปลอดภัยกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ

ปัจจุบันแม้ว่า 90% ของการขนส่งจะเป็นการขนส่งทางทะเล แต่ในเรื่องของความรวดเร็วแล้ว การขนทางอากาศกินขาด ยกตัวอย่างง่าย ๆ การขนส่งสินค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ถ้าขนส่งทางเรือใช้เวลาประมาณ 20 ถึง 30 วัน แต่ถ้าขนส่งทางอากาศใช้เวลาเพียง 3 วัน

แต่เมื่อดูเรื่องค่าใช้จ่ายในการขนส่งแล้ว การขนส่งสินค้าทางอากาศจัดว่ามีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 4-5 เท่าของการขนส่งทางบก และสูงกว่า 12-16 เท่ากับการขนส่งทางทะเล ซึ่งเมื่อดูความคุ้มค่าเรื่องเวลาแล้วก็น่าจะพอลมล้างกันได้ ทั้งนี้ คงต้องขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า และความต้องการของผู้ส่งด้วย

การขนส่งทางอากาศเป็นที่นิยมสำหรับสินค้าที่เน่าเสียง่าย และสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ ยาและเวชภัณฑ์ โดยสินค้ามูลค่าสูงประเภทนี้แม้จะมีอัตราส่วนน้อยกว่า 1% ของการค้าโลกทั้งหมด แต่ด้วยมูลค่าที่มหาศาลและเป็นสินค้าที่ต้องการความปลอดภัยสูง การขนส่งทางอากาศจึงตอบโจทย์และได้รับความนิยม

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา การขนส่งสินค้าทางอากาศได้เปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทุกอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับวิกฤติและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งผลกระทบครั้งนี้นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่โหมดดิจิทัล ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงและมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ผู้ประกอบการสายการบินได้พัฒนาขั้นตอนและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการจัดส่งสินค้าโดยเฉพาะสินค้าแช่แข็ง รวมถึงการปรับความจุของเครื่องบินขนส่งสินค้าควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคนิคการบรรจุแบบควบคุมอุณหภูมิ

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เผยแพร่รายงานสถานการณ์การขนส่งทางอากาศในช่วงที่ผ่านมา โดยระบุว่า ในปี 2565 ภาคอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกอยู่ในโหมดฟื้นตัว ความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกลดลง 10.6% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2564 สงครามในยูเครนยังคงบั่นทอนขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าที่ใช้ให้บริการในตะวันออกกลางและในยุโรป ซึ่งมีปริมาณการขนส่งสินค้าลดลงถึง 15.6% เนื่องจากสายการบินหลายแห่งในรัสเซียและยูเครนเป็นผู้เล่นหลักในการขนส่งสินค้า

สายการบินยุโรปได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน สายการบินในเอเชียก็ได้รับผลกระทบจากสงครามเช่นกันเนื่องจาก ต้องเลือกเส้นทางการขนส่งที่ยาวกว่าและมีราคาแพงกว่าไปยังยุโรปเพื่อหลีกเลี่ยงน่านฟ้าของรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลที่น่าในใจคือ ตลาดการขนส่งสินค้าทางอากาศคาดว่าจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 5.32% ระหว่างปี 2565 ถึง 2570 ขนาดของตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 19.52 ล้านตัน การเติบโตของตลาดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ อาทิ อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วยังเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ จากข้อมูล IATA ระบุว่า การขนส่งทางอากาศมีส่วนแบ่งมากกว่า 35% ของการค้าระหว่างประเทศตามมูลค่า เพราะปัจจุบันผู้คนนิยมซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นและบ่อยขึ้น ผู้ขายออนไลน์ต้องการบริการขนส่งสินค้าทางอากาศเพื่อส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าตรงเวลา ซึ่งคาดว่า อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางอากาศ “อีคอมเมิร์ซ” จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต เนื่องจากการค้าขายออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการบริการขนส่งพัสดุภัณฑ์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

สำหรับการขนส่งทางอากาศในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก คาดว่าจะมีการเติบโตประมาณ 30% ภายในปี 2570 เนื่องจากวัตถุดิบต่าง ๆ ถูกส่งมาจากกลุ่มประเทศนี้ จากต้นทุนการผลิตและค่าแรงที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม และไทย อีกทั้งการผลิตในเอเชียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการ COVID-19 ของประเทศจีน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนความต้องการขนส่งสินค้าทางอากาศมีการเติบโตสูงขึ้น

Sources : IATA, IHS Markit GTA