E-SIM พลิกโฉมอุตสาหกรรมมือถืออย่างไร

ซิมการ์ด (Sim Card) แบบเดิมกำลังจะกลายเป็นอดีตไปแล้วเมื่อเทคโนโลยี eSIM มอบข้อได้เปรียบที่มากกว่าแก่ผู้ใช้มือถือ ซิมการ์ดพัฒนาครั้งแรกในปี 2534 เป็นการ์ดพลาสติกที่มีชิปฝังอยู่เป็นพระเอกของการให้บริการโทรศัพม์มือถือ ที่ใช้ในการลงทะบียนแสดงตัวตนและความเป็นเจ้าของเลขหมายโทรศัพท์ 

ปัจจุบันซิมการ์ดกำลังจะกลายเป็นอุปกรณ์ล้าสมัยในโลกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากทางเลือกที่ดีกว่า เช่น ซิมแบบฝัง หรือ eSIM และ iSIM ซึ่งกำลังเริ่มได้รับความสนใจอย่างมาก   

Apple ก้าวเข้าสู่ตลาดนี้เป็นครั้งแรก โดยยกเลิกใช้ซิมการ์ดเพื่อรองรับ eSIM ใน iPhone14 รุ่นใหม่ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้ผลิตรายอื่นจะทำตามในไม่ช้า  ข้อมูลล่าสุด จาก GSMA ระบุว่า 88% ของผู้ให้บริการทั่วโลกวางแผนที่จะให้บริการ eSIM ภายในปี 2566 และ 98% จะให้บริการภายในปี 2568 นั่นหมายถึง ซิมการ์ดที่ใช้ในปัจจุบันจะหมดความจำเป็น และหมดความสำคัญลงในที่สุด 

ซิมแบบฝัง หรือ eSIM  เป็นวิวัฒนาการของซิมการ์ดที่ออกแบบมาเพื่อจัดการกับข้อจำกัดของซิมแบบเดิม แทนที่จะเป็นการ์ดพลาสติกที่ถอดเข้าถอดออกเมื่อจะใช้งานในโทรศัพท์ eSIM เป็นชิปขนาดเล็กที่ฝังอยู่ไม่สามารถถอดออกและใส่ในโทรศัพท์เครื่องอื่นได้ แต่ข้อมูลใน eSIM สามารถเขียนซ้ำได้ ซึ่งหมายความว่า คุณสามารถเปลี่ยนเครือข่ายด้วยการสลับระหว่างเครือข่ายต่าง ๆ โดยไม่ต้องสลับซิมการ์ดได้โดยไม่ต้องถอดซิมออก ซึ่งนอกจากสะดวกสบายในการเชื่อมต่อแล้วยังเป็นการนำเสนอโอกาสในเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่น ๆ ที่เดิมไม่มีซิมการ์ด เช่น แล็ปท็อป สมาร์ทวอทช์ รถยนต์ เป็นต้น  

eSIM มีประโยชน์มากมาย ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการสามารถผลิตโทรศัพท์ที่บางลง ขนาดเล็กลง หรือใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่ใส่ซิมการ์ดแบบเดิม โดยอาจเพิ่มขนาดแบตเตอรี่หรือเพิ่มคุณสมบัติของโทรศัพท์มือถือ  และการที่ภายในตัวเครื่องมีช่องว่างน้อยลงเป็นการป้องกันความชื้นและฝุ่นที่จะเข้าไปในตัวเครื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายได้อีกด้วย  ที่สำคัญยังเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ใช้บริการที่ไม่ต้องการสวมอุปกรณ์ขนาดใหญ่บนข้อมือ เช่น สมาร์ทวอทช์ เป็นต้น

นอกจากนี้ eSIM ยังสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานโดยสามารถจัดเก็บโปรไฟล์ได้หลายรายการในอุปกรณ์เดียวกัน ผู้ใช้สามารถสลับโปรไฟล์ได้ตามลักษณะการใช้งาน สลับไปมาระหว่างเครือข่ายต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว กรณีอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณบนเครือข่ายปกติ และยังสามารถเปลี่ยนรูปแบบบริการจากแบบเติมเงินเป็นแบบรายเดือนได้สะดวกและง่ายกว่าที่เคย สำหรับนักเดินทางจะช่วยลดความยุ่งยากในการเปลี่ยนซิมท้องถิ่นได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมและภาคธุรกิจหลายแห่งมีแนวโน้มที่จะนำ eSIM มาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ หนึ่งในอุตสาหกรรมที่พร้อมคือ ภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ด้วยการใช้อุปกรณ์ IoT ในยานพาหนะที่เพิ่มขึ้น เช่น ระบบเทเลแมติกส์ eSIM จึงเป็นโซลูชั่นที่สะดวกสำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์เหล่านี้ผ่านการโรมมิ่งทั่วโลก  ซึ่งช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก 

อีกอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะนำเทคโนโลยี eSIM มาใช้เร็ว ๆ นี้คือ การดูแลสุขภาพ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ใช้ในอุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพแบบสวมใส่ และระบบตรวจสอบผู้ป่วยทางไกล เป็นต้น ซึ่งต้องพึ่งพาการเชื่อมต่อเซลลูลาร์มากขึ้น eSIM ช่วยให้สามารถตรวจสอบสัญญาณชีพและสภาพของผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังสามารถวินิจฉัย รวมทั้งการรักษาจากระยะไกลในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงมาก   และยังช่วยอำนวยความสะดวกในการรวมอุปกรณ์เหล่านี้เข้ากับระบบไอทีด้านการดูแลสุขภาพที่มีอยู่ ทำให้แพทย์และพยาบาลเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น

จากผลการศึกษาของ Juniper Research ระบุว่า ด้วยนวัตกรรมของ Apple ที่พลิกโฉมสมาร์ทโฟน ทำให้มูลค่าของตลาด eSIM ทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566 เป็น 16.3 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2570 

ทั้งนี้ ในรายงาน Juniper, ESIMS: EMERGING TRENDS, STRATEGIC RECOMMENDATIONS & MARKET FORECASTS 2023-2027 ได้สะท้อนมุมมองของนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมและสมาคมการค้าอุปกรณ์พกพา โดยกล่าวว่า ผู้ใช้อุปกรณ์พกพาพร้อมที่จะโบกมือลาซิมการ์ดพลาสติกและเปิดรับเทคโนโลยีแห่งอนาคตเพื่อปลดล็อกสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะตามอีกมากมาย

Juniper ยังได้คาดการณ์อีกว่า ภายในสิ้นปี 2566 ตลาด eSIM จะเติบโตถึง 249% โดยมีแรงหนุนจากการนำอุปกรณ์ที่รองรับ eSIM มาใช้ และยังคาดการณ์ว่า ในปี 2566 Apple จะขยายการใช้งานอุปกรณ์ที่ใช้ eSIM ไปยังยุโรป นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า จำนวนสมาร์ทโฟนทั้งหมดที่ใช้การเชื่อมต่อ eSIM จะเพิ่มขึ้นจาก 986 ล้านเครื่องในปี 2566 เป็น 3.5 พันล้านเครื่องภายในปี 2570 โดยผู้ผลิตเช่น Google และ Samsung ต่างก็พัฒนาอุปกรณ์ ที่มี eSIM เพื่อแข่งขันและรักษาตำแหน่งในตลาดโลก

จากวิกฤตพลังงานในปัจจุบันและความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น Juniper Research คาดว่า ทั้งผู้ให้บริการเครือข่ายและผู้ให้บริการจะเริ่มให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของการดำเนินงาน โดยมองว่าเทคโนโลยี eSIM เป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าซิมการ์ดแบบดั้งเดิม

ทั้งนี้ การผลิตซิมการ์ดพลาสติกอยู่ในอัตราเฉลี่ย 4.5 พันล้านใบทุกปี ซึ่งเทียบเท่ากับจำนวนพลาสติกถึง 20,000 ตัน ในขณะที่ทั่วโลกมีความพยายามอย่างมากที่จะลดขยะจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ eSIM จะเป็นจุดสนใจที่สำคัญสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในปี 2566 ไม่ว่าจะด้วยความมุ่งมั่นอย่างจริงใจต่อความคิดริเริ่ม CSR (ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร) หรือเพียงเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

มาถึงตรงนี้เราคงได้เห็นว่า eSIM จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมธุรกิจโทรคมนาคมแม้จะไม่หวือหวาแต่ก็น่าสนใจ ซึ่งประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามได้คือ ผู้บริโภคยังรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ eSIM น้อยมากทั้งในเรื่องของกระบวนการทำงาน งบประมาณ การจัดหาเทคโนโลยี กฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ รวมทั้งประสิทธิภาพของอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ฯลฯ จึงเป็นความท้าทายที่ผู้ให้บริการต้องพิจารณา ซึ่งก็หวังว่า จะได้เห็นการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้มากขึ้นในอนาคต เพื่อโอกาสในการทำกำไรได้เพิ่มขึ้นก่อนใคร

Sources: Juniper Research, GSMA, Forbes