เทคโนโลยีสุขภาพ ปฏิรูปคุณภาพชีวิตคนไทย

เมื่อพูดถึง “ยารักษาโรค”  และการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ซึ่งเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่จำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ของมนุษย์ แต่ว่าในโลกปัจจุบันการที่คนจะสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์กลับกลายเป็นเรื่องที่ยุ่งยากขึ้น เพราะมีหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น ระยะทางในการเดินทางมาโรงพยาบาล ความแออัดที่เกิดขึ้นในพื้นที่จำกัดของโรงพยาบาล รวมถึงระยะเวลาในการรอแพทย์ ทำให้หลาย ๆ ครั้งการรักษาเกิดขึ้นไม่ทันท่วงที

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่การรักษาไม่สามารถทำได้เนื่องจากแพทย์ขาดความเชี่ยวชาญ หรือการรักษามีขั้นตอนที่ยุ่งยากเกินไป เช่น การผ่าตัดอวัยวะบางส่วนภายในร่างกายที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก โอกาสที่จะสำเร็จต่ำ จึงเกิดแนวความคิดมากมายในการแก้ไขจุดอ่อนในตลาดสุขภาพด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาให้เกิดการเข้าถึงที่สะดวกและรวดเร็ว และง่ายดาย โดยได้เกิดเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่กำลังเติบโตไปทั่วโลก ซึ่งก็คือ HealthTech หรือ เทคโนโลยีด้านสุขภาพ

HealthTech หรือ เทคโนโลยีด้านสุขภาพ เป็นการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีอันชาญฉลาดมาเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งจะเป็นการช่วยเสริมประสิทธิภาพการบริการและการรักษา เป้าหมายสำคัญคือ การมอบความสะดวกสบาย คล่องตัวแก่ผู้เข้ารับบริการ ครอบคลุมทุกรูปแบบการรักษาด้วยการวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุด ลดความผิดพลาด โดยตัวอย่างการนำเทคโนโลยีมาใช้มีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น

  1. AI (ARTIFICIAL INTELLIGENCE) เพิ่มความแม่นยำของการวินิจฉัยโรค
  2. TELEMEDICINE การให้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพ และการรักษาแบบออนไลน์ ช่วยให้แพทย์กับผู้ป่วยสามารถสื่อสารกันได้แบบ real time โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล
  3. BLOCKCHAIN นำมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วย เวชระเบียน เวชสถิติต่าง ๆ โดยมีความถูกต้อง แม่นยำ และปลอดภัย
  4. ROBOTIC SURGERY ช่วยลดข้อจำกัดและเพิ่มความแม่นยำในกระบวนการผ่าตัดที่มีความสลับซับซ้อนหรืออยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงยาก

ตลาดของ HealthTech  มีแนวโน้มที่ดีวันดีคืน โดยภาพรวมในตลาดโลกมูลค่าตลาดเทคโนโลยีสุขภาพมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลในปี 2017 มีมูลค่าอยู่ที่ 175,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ และเติบโตขึ้นมาเป็น 334,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2022 และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการมูลค่าตลาดไว้สูงถึง 657,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2025

อีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถยืนยันการเติบโตของตลาดเทคโนโลยีสุขภาพ คือ ข้อตกลงการลงทุนขนาดใหญ่ในธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสุขภาพ ที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ จากแผนภาพด้านบนแสดงให้เห็นถึงจำนวนข้อตกลงที่เกิดขึ้น โดยในช่วงปี 2017 ถึงปี 2019 มีจำนวนข้อตกลงเพียง13 ข้อตกลงหรือน้อยกว่า แต่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดขึ้นมาในปี 2020 ที่จำนวนข้อตกลงเพิ่มขึ้น 44 ข้อตกลง และเติบโตขึ้นถึง 88 ข้อตกลงในปี 2021 โดยมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและแก้ปัญหาให้แก่ผู้บริโภคในตลาดสุขภาพ

ในตลาดอาเซียน จากการรายงานของ INSEAD เรื่องภาพรวมอุตสาหกรรม เทคโนโลยีสุขภาพใน 4 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์ในปี 2020 พบว่าประเทศไทยมีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีสุขภาพที่น่าสนใจ และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และถึงแม้ว่าจะมีพัฒนาการสูงที่สุด แต่มูลค่าการลงทุนในเทคโนโลยีสุขภาพของไทยยังต่ำกว่า อินโดนีเซีย เวียดนาม รวมถึงสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่จ่ายเงินลงทุนในด้านเทคโนโลยีสุขภาพสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียนด้วย 

หากคิดเป็นสัดส่วน สิงคโปร์มีสัดส่วนมากที่สุดที่ 50% ในขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนามมีสัดส่วนพอ ๆ กันที่ 15% ส่วนประเทศไทยมีสัดส่วนการลงทุนประมาณ 10% นอกจากนี้ในรายงานยังได้ระบุถึงปัญหาของประเทศไทยที่มีช่องว่างการเข้าถึงบริการด้านการดูแลสุขภาพของประชนในเขตชนบท ทั้งในด้านคุณภาพการรักษาและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ซึ่งในส่วนนี้เองเป็นหนึ่งในปัญหาที่เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยแก้ไขในอนาคต

สำหรับภาพรวมประเทศไทย ตลาดเทคโนโลยีสุขภาพมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 16.21% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของค่าเฉลี่ยตลาดเทคโนโลยีสุขภาพในประเทศอาเซียนที่ 14.27% โดยประเทศไทยในปี 2017 มีมูลค่าตลาดเพียง 160 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากนั้นมีปรับตัวสูงขึ้นมาเป็น 870 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2022 และคาดการว่าตลาดเทคโนโลยีสุขภาพในประเทศไทยจะเติบโตถึง 1,830 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2027 ซึ่ง 1 ในสาเหตุที่ส่งผลให้ตลาดเทคโนโลยีสุขภาพมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะประเทศไทยถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางด้านการบริการสุขภาพหลักของเอเชีย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวที่จัดอยู่ในเชิงการแพทย์ของทั้งภูมิภาคเอเชียราว 38% และสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานในระบบสากลของประเทศไทยมีมากกว่า 56 แห่ง มากที่สุดในอาเซียน รวมถึงมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก

สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีสุขภาพในไทย จากการวิเคราะห์โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าธุรกิจปัจจุบันจะกระจุกตัวอยู่ในการลงทุนแบบ B2B ของรายใหญ่แต่ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า รวมกับการผลักดันจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) จะส่งผลให้มีจำนวนธุรกิจและผู้ใช้งานเทคโนโลยีสุขภาพเพิ่มขึ้น แต่ยังคงจำกัดอยู่ในส่วนของเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน เน้นการพัฒนาฟังก์ชัน

ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจในกลุ่ม TELEMEDICINE เพื่อตอบโจทย์การใช้งานและความต้องการของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากกว่ากลุ่มเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนและต้องใช้ความแม่นยำสูงยก และในกลุ่ม BLOCKCHAIN, ROBOTIC SURGERY ที่จะจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูง

ตลาดด้านสุขภาพของไทยยยังนับว่ามีอนาคตและน่าสนใจไม้น้อย โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิดที่ประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งบริการที่จะยืนหยัดและเติบโตในตลาดนี้ต้องตอบโจทย์ความเรียบง่าย เข้าถึงได้ไม่ยุ่งยากไม่ซับซ้อน เพราะตลาดนี้กว้างมากตั้งแต่รากหญ้าที่แอปพลิเคชั่นเป๋าตังเขาไปปลดล็อกและสร้างประสบการณ์การใช้งานและการเข้าถึงเทคโนโลยีให้แล้ว ส่วนในกลุ่มลูกค้างระดับบน ๆ คงต้องการบริการที่เป็นเลิศแน่นอน

SOURCES: STATISTA, KATALYST.KASIKORNBANK, THAIHEALTHTECH, BANGKOKBIZNEWS, INSEAD, INTERCARE-ASIASOURCES: STATISTA, KATALYST.KASIKORNBANK, THAIHEALTHTECH, BANGKOKBIZNEWS, INSEAD, INTERCARE-ASIA