โจทย์ใหญ่ “ความมั่นคงทางอาหาร” ที่รอการแก้ไข

แนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารคิดค้นขึ้นในทศวรรษที่ 1960 ในช่วงที่โลกประสบภาวะขาดแคลนอาหาร โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ให้คำนิยามไว้ว่า

สภาวะที่ทุกคนทั้งทางกายภาพและทางเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ได้ในทุกขณะเวลา

โดยได้จำแนกความมั่นคงทางอาหารออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1)การมีอาหารเพียงพอ (Food Availability) 2) การเข้าถึงอาหาร (Food Access) 3) การใช้ประโยชน์จากอาหาร (Food Utilization)  และ 4) การมีเสถียรภาพด้านอาหาร (Food Stability)

ทั้งนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญในด้านความมั่นคงด้านอาหาร โดยได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ.2551 ซึ่งมีเนื้อหาและใจความสอดคล้องกับนิยามขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ดังนี้

ความมั่นคงทางอาหาร คือ การเข้าถึงอาหารที่เพียงพอสำหรับบริโภคของประชาชนในประเทศ อาหารมีความปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมตามความต้องการตามวัยเพื่อสุขภาวะที่ดี มีระบบการผลิตที่เกื้อหนุน รักษาสมดุลของระบบนิเวศวิทยา และความคงอยู่ของฐานทรัพยากรทางธรรมชาติของประเทศ ทั้งในภาวะปกติ หรือเกิดภัยพิบัติสาธารณภัย หรือการก่อการร้ายอันเนื่องจากอาหาร

The Economist Newspaper ได้รายงานโดยสรุปประเด็นสำคัญเรื่องความมั่นคงทางอาหารไว้ว่า ความมั่นคงทางอาหารมีแนวโน้มลดลง จากที่เคยเฟื่องฟูในช่วงระหว่างปี 2012 ถึง 2015 ทั้งนี้เนื่องจาก ปัญหาด้านโครงสร้างในระบบอาหารทั่วโลกทำให้ความก้าวหน้าด้านความมั่นคงทางอาหารชะลอตัว และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาความมั่นคงทางอาหารโลกมีแนวโน้มลดลงในทุก ๆ ด้าน ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง เพราะอาหารมีราคาสูงขึ้น  และการค้าเสรีที่ลดลง รวมทั้งเงินทุนสำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารก็ลดลงด้วย

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2019 ระหว่างประเทศที่อยู่ในอันดับช่วงบนและช่วงล่าง ซึ่ง 8 ใน 10 อันดับแรกเป็นประเทศในแถบยุโรปที่มีรายได้สูง เช่น ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ และนอร์เวย์ ประเทศเหล่านี้ทำคะแนน  GFSI (Global Food Security Index (GFSI) หรือ ดัชนีชี้วัดความมั่นคงทางอาหารของโลก) สูงในทุก ๆ ด้าน สวนทางกับประเทศที่อยู่ในอันดับรั้งท้าย

ในรายงานดังกล่าว ได้เสนอทางออกของปัญหานี้ว่า “นวัตกรรม” เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้ ด้วยการทำให้เกษตกรเข้าถึงปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โดยภาครัฐต้องให้ความสำคัญ ส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม รวมถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานในห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแรง

Source: Global Food Security Index 2022 Overall Scores

การพิจารณาในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ปัจจุบันใช้ Global Food Security Index (GFSI) หรือ ดัชนีชี้วัดความมั่นคงทางอาหารของโลก เป็นข้อมูลในการพิจารณาโดยดูจาก 4 ปัจจัยดังนี้

  1. Affordability – ความสามารถในการซื้ออาหารของผู้บริโภค จุดอ่อนไหวในราคาอาหาร และมาตรการสนับสนุนผู้บริโภคหากเกิดวิกฤตราคาอาหาร
  2. Availability – ความสามารถในการผลิตทางการเกษตร ความเสี่ยงในการหยุดชะงักของอุปทาน ความสามารถของประเทศในการกระจายอาหาร และความพยายามในการทำวิจัยเพื่อขยายผลผลิตทางการเกษตร
  3. Quality and Safety – ความหลากหลายและโภชนาการอาหาร รวมถึงความปลอดภัยทางอาหาร
  4. Sustainability and Adaptation – การเปิดรับผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลก ความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงของทรัพยากรธรรมชาติ และการปรับตัวต่อต่อความเสี่ยงต่าง ๆ

จากดัชนีชี้วัดความมั่นคงทางอาหารดังกล่าว มีรายงานล่าสุดในปี 2022  ที่ได้มีการจัดอันดับประเทศที่มีความมั่นคงด้านอาหารรวม 113 อันดับ ประเทศที่ทำคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 10 อันดับแรกได้แก่ ฟินแลนด์, ไอร์แลนด์, นอร์เวย์, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, สวีเดนและแคนนาดา  (อันดับร่วมกัน), อังกฤษ, และ โปรตุเกส โดยประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับที่ 13 และประเทศจีนอยู่ในอันดับที่ 25

ส่วนประเทศในอาเซียน จัดอันดับไดดังนี้ สิงคโปร์ อันดับที่ 28, มาเลเซีย อันดับที่  41, เวียดนามอันดับที่  46, อินโดนีเซีย อันดับที่ 63, ไทย อันดับที่ 64, ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 67, พม่า อันดับที่  72, กัมพูชา อันดับที่ 78, และ ลาว อันดับที่ 81 โดยประเทศบรูไนไม่มีข้อมูล

นอกจากนี้ สภาหอการค้าฯและสภาอุตสาหกรรมฯ รายงานว่า ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารอันดับที่ 13 จาก 24 ประเทศ กินส่วนแบ่งตลาดโลกถึง 2.3% มีมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารรวม 1,107,450 ล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 11.8%

จากรายงานจะเห็นได้ว่า ความมั่นคงทางอาหารของไทยปีนี้อยู่ในอันดับที่ 64 ของโลก ร่วงจากอันดับที่ 51 ในปีที่แล้วและเป็นอันดับ 5 ของอาเซียน สิ่งที่ทำได้ดีในปีนี้คือ ด้านความสามารถในการซื้ออาหารของผู้บริโภค (Affordability) ได้ 83.7 คะแนน แต่สอบตกด้านคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร (Quality and Safety)ได้ 45.3 คะแนน ส่วนด้านการเข้าถึงอาหาร (Availability) 52.9 คะแนน  และด้านความยั่งยืนและการปรับตัว (Sustainability and Adaptation) 51.6 คะแนน อยู่ในระดับดีพอใช้ ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของภูมิภาค 

นักวิชาการจากสถาบันคลังสมองชาติ ได้วิเคราะห์สาเหตุที่อันดับของไทยลดลง เนื่องจากนโยบายภาครัฐในเรื่องการยกระดับคุณภาพสินค้าและเพิ่มคุณภาพอาหาร โดยเฉพาะการใช้งบประมาณเพื่ออุดหนุนภาคการเกษตร เช่น การจำนำสินค้าเกษตร และการประกันรายได้สินค้าเกษตรที่ใช้งบประมาณถึง 1.2 ล้านล้านบาทภายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังไม่สามารถสร้างให้ภาคเกษตรเข้มแข็ง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินรวมทั้งความยากจนให้หมดไปได้ สวนทางกับนโยบายของต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศที่ลดการอุดหนุนเงินกษตกรโดยหันไปมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งด้านการให้ความรู้วิทยาการ และด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม

ตัวอย่างในประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศเวียดนามที่หันมาปลูกข้าวพื้นนุ่มซึ่งมีราคาเฉลี่ยสูงกว่าข้าวขาวประมาณ 150 ดอลลาร์ต่อตัน ปัจจุบันส่งออกข้าวพื้นนุ่มได้ถึง 2.3 ล้านต้น เพิ่มขึ้นจากเดิม 11 เท่าในปี 2554 ทำให้เกษตกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ไทยมีปริมาณการผลิตข้าวและส่งออกหดตัวลงเรื่อย ๆ

ในส่วนปัญหาเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร ประเทศไทยยังขาดความหลากหลายทางโภชนาการ และมาตรฐานทางสารอาหาร (Dietary diversity, Nutritional standards, Micronutrient availability) รวมถึงมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัยในกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อภาวะทุพโภชนาการและการเกิดโรคไม่ติดต่อของประชากรในประเทศได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ไดคาดการณ์จำนวนประชากรในภูมิภาคเอเชียว่าจะสูงถึง 5.3 พันล้านคนในปี 2050 ซึ่งจะทำให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นสูงถึง 70% โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่ผลิตทางการเกษตร เช่น พื้นที่การเพาะปลูกข้าวที่อาจจะลดลงมากถึง 25% ซึ่งจะทำให้ราคาของอาหารมีความผันผวนสูงขึ้นและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหารก็จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และนี่คือ โจทย์สำคัญของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการป้องกันและลดความรุนแรงของสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยควรให้ความสำคัญในการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและการควบคุมราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างยั่งยืน

แหล่งอ้างอิง

  1. https://impact.economist.com/sustainability/project/food-security-index#introduction
  2. https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1031036
  3. https://www.pptvhd36.com/news/เศรษฐกิจ/178741