สงครามกับความมั่นคงด้านอาหารของโลก

จากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววัน ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลก รวมทั้งในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ มีสัดส่วนการส่งออกข้าวสาลีทั่วโลกประมาณ 25-30% ส่งออกข้าวบาร์เลย์ 30% และ ส่งออกข้าวโพดของโลกถึง 14%

ความไม่มั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคเอเชียที่เกิดจากความขัดแย้งนั้นเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น และยังมีความท้าทายด้านอื่น ๆ ตามมามากมาย อาทิ ห้ามการส่งออก การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ต้นการผลิตปุ๋ยที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ของโลก ผลกระทบจากจากภาวะสงครามที่เกิดขึ้นทำให้ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อราคาปุ๋ยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการผลิตวัตถุดิบ ทำให้อาหารทั่วโลกอยู่ในภาวะขาดแคลนอย่างหนัก

รัสเซียและยูเครนนับว่ามีบทบาทสำคัญในภาคเกษตรกรรม ซึ่งทั้งสองประเทศรวมกันสามารถผลิตน้ำมันดอกทานตะวันได้ปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก มีปริมาณการผลิตข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ประมาณ 30% และข้าวโพด 14% ซึ่งจากการรุกรานของรัสเซีย ทำให้ในปีนี้เกษตรกรจำนวนมากในยูเครนไม่สามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรได้ การเก็บเกี่ยวผลผลิตก็มีปริมาณที่ลดลง อีกทั้งยังมีปัญหาการหยุดชะงักด้านลอจิสติกส์ในภูมิภาค ส่งผลให้ผลผลิตในรัสเซียส่วนใหญ่ไม่สามารถนำออกสู่ตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม การคว่ำบาตรและการหยุดชะงักของการขนส่ง ราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น เกษตรกรทั้งในประเทศที่นำเข้าสุทธิและส่งออกสุทธิต้องทบทวนแผนในการทำการเกษตรใหม่ เช่น ปลูกพืชให้น้อยลง หรือปลูกพืชที่มีความต้องการใช้ปุ๋ยต่ำกว่าพืชชนิดอื่น เพื่อให้สามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรได้เพียงพอต่อความต้องการ และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนไปได้ในระดับหนึ่ง

จากข้อมูลของธนาคารโลก เปิดเผยว่า ราคาอาหารโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 23% ในปี 2565 หลังจากที่เคยเพิ่มขึ้นถึง 31% ในปี 2564 อีกทั้งต้นทุนของปัจจัยการผลิตและเชื้อเพลิงก็เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับราคาอาหารทุกประเภทเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ดัชนีราคาอาหารของ FAO ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมีนาคม 2565 ที่ 159.3 จุด ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 12.6% จากเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดแล้วนับตั้งแต่มีการกำหนดดัชนีราคาอาหารเมื่อปี 2533 ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่ก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 60 ปี

สำหรับ การในการตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาอาหารโลกที่พุ่งสูงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อ รัฐบาลหลายแห่งในเอเชียได้ดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องความมั่นคงด้านอาหารท่ามกลางความกลัวการขาดแคลนอาหารและความไร้เสถียรภาพทางสังคมและการเมือง โดยที่ประเทศไทย เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ได้มีการประมูลซื้อข้าวสาลี เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ส่วนประเทศอื่น ๆ ได้เรียกร้องให้มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการผลิตทางการเกษตรในประเทศ

ในประเทศจีน มีแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากผู้นำระดับสูงของประเทศในเรื่องการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และท่ามกลางความตึงเครียดที่ยืดเยื้อจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศว่าจีนต้องประกันความมั่นคงของธัญพืชและการพึ่งพาตลาดภายในประเทศเพื่อรักษาระดับการผลิต ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติของจีนจะมีการทบทวนร่างกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหาร

ในญี่ปุ่น พรรคเสรีประชาธิปไตยซึ่งปกครองตนเองได้มีมติเรียกร้องให้รัฐบาลเสริมสร้างนโยบายความมั่นคงด้านอาหารของตน ส่วนอินเดียได้ยกเลิกภาษีศุลกากรขั้นพื้นฐานสำหรับน้ำมันที่บริโภคได้ ในขณะที่มาเลเซียกำลังควบคุมราคาและให้เงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาแรงกดดันด้านต้นทุน และมีกระแสข่าวว่าบางประเทศอาจเริ่มบังคับใช้การห้ามส่งออกสินค้าอาหารที่พวกเขาเห็นว่าจำเป็นสำหรับการบริโภคในประเทศของตน เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย อินเดีย อาร์เจนตินา และอื่นๆ

นอกจากมีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการการตั้งเป้ากระตุ้นการผลิตอาหารเช่นหลายประเทศในเอเชียแล้ว บางประเทศอาจมองหาตลาดนำเข้าทางเลือกอื่น ๆ สำหรับผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่อื่น ๆ เช่น ออสเตรเลียและอินเดีย

แม้ว่าสงครามยูเครน-รัสเซียจะเป็นตัวช่วยเปิดโอกาสให้มีการเพิ่มการผลิตและการส่งออก แต่ทั้งหมดนี้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงด้านอาหารในประเทศที่อ่อนแอทางเศรษฐกิจอยู่แล้วและต้องพึ่งพาข้าวสาลีของรัสเซียอย่างมาก เช่น ประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียกลาง ซึ่งในบางประเทศที่มีคลังสินค้า ยังไม่สามารถฝ่าวิกฤตด้านอุปทานได้ ตัวอย่างเช่น มีรายงานว่า ในปีที่ผ่านมาจีนมีการสต็อกข้าวสาลีเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้มีสต็อกข้าวสาลีถึง 51% ของโลก

วิกฤตการณ์อาหารที่ทั่วโลกกำลังเผชิญนั้น ไม่ได้เกิดจากความสามารถในการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการ แต่ประเด็นปัญหาอยู่ที่การจัดการด้านระบบอาหารของเราที่ไม่สามารถจัดเก็บและแจกจ่ายอาหารได้เพียงพอ ซึ่งเมื่อเผชิญกับความปั่นป่วนที่เกิดจากสงครามในยูเครน สถานการณ์ด้านอาหารย่อมต้องเผชิญกับความไม่แน่นนอน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Sources: weforum.org, BCG, USDA, FAO