ธุรกิจดูแลสุขภาพผู้สูงวัย ความท้าทายที่มีอนาคตสดใส

สังคม “ผู้สูงวัย” กับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ เริ่มมีความชัดเจนขึ้นในหลายประเทศ จากจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น
อย่างรวดเร็ว เช่น ในอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ส่งผลให้จำนวนประชากรในวัยทำงาน
มีอัตราลดลง นำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ต้นทุนการผลิตด้านแรงงานสูงขึ้น ธุรกิจขยายตัวล่าช้า
ขีดความสามารถการแข่งขันระหว่างประเทศลดลง 

ทั้งนี้ ในหลายประเทศมีนโยบายป้องกันแรงงานย้ายถิ่น ในขณะที่บางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา และสหราชอาณาจักร
กำลังดึงดูดผู้อพยพที่มีทักษะสูง เพื่อนำไปเป็นแรงงานในการช่วยพัฒนาประเทศ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นการชดเชยแรงงาน
ที่เป็นประชากรสูงวัยซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส วิกฤตที่ว่า คือ
ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่วนโอกาสนั้นมีแน่นอน และเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจทีเดียว โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการสร้างคอมมูนิตี้ของผู้สูงอายุในวัยเกษียณ หรือ ชุมชนวัยเกษียณ

ตลาดของผู้สูงวัยในชุมชนวัยเกษียณ เป็นกลุ่มที่ต้องการสภาพแวดล้อมที่หรูหราและบริการที่หลากหลาย เช่น ต้องการอยู่ใกล้สนามกอล์ฟ แหล่งน้ำ หรือในชุมชนที่ร่มรื่น จัดสวนสวยงามในสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเดินออกกำลังกาย  มีศูนย์นันทนาการหลากหลายที่เหมาะสมกับวัย สิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตพร้อมบริการดูแลสุขภาพ รวมทั้งการจัดสรรพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยงแสนรักของผู้สูงวัยอีกด้วย ผู้ประกอบการจึงต้องคำนึงถึงพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มนี้ ต้องไม่ลืมว่า ผู้เกษียณอายุ เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้อ และพร้อมที่ซื้อหาความสะดวกสบายในชีวิตหลังเกษียณ หากสามารถตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ได้ เชื่อว่าธุรกิจนี้รุ่งแน่นอน จะเห็นได้ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดชุมชนวัยเกษียณเติบโตอย่างมาก โดยมีมูลค่าเกือบ 218.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2562 อัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เกือบ 317.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566 มีปัจจัยมาจากอายุเฉลี่ยของประชากรที่เพิ่มขึ้น เพราะเทคโนโลยีทำให้การดูแลสุขภาพมีความก้าวหน้ามากขึ้นสามารถทำให้มีอายุยืนยาวขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ในสภาพเศรษฐกิจที่มีผู้สูงอายุและมีผู้เกษียณอายุเป็นจำนวนมากมีความต้องการที่แตกต่างจากเศรษฐกิจที่มีอัตราการเกิดสูง และมีประชากรในวัยทำงานที่มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ประเทศที่มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีแนวโน้มความต้องการบริการด้านสุขภาพ และบ้านพักคนชรามากขึ้น ซึ่งเป็นตัวผลักให้เศรษฐกิจเปลี่ยนไปสู่ตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยสินค้าและบริการที่เชื่อมโยงกับผู้สูงอายุมากขึ้น เพราะผู้สูงอายุมีความคาดหวังเพิ่มขึ้นจากประสบการณ์ที่นอกเหนือจากการดูแลทางคลินิกสุขภาพเท่านั้น

นอกจากนี้ จากจำนวนประชากรผู้พิการและผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก จึงเป็นแรงผลักที่สำคัญให้ตลาดนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับได้มีการนำเทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงอายุมากขึ้น อาทิ  อุปกรณ์ที่ใช้เพื่อรักษา หรือปรับปรุงการทำงานของแต่ละบุคคล เพื่อยกระดับความเป็นอยู่โดยรวม สิ่งอำนวยความสะดวกที่ช่วยให้ใช้ชีวิตในประจำวันได้ด้วยตนเอง เช่น เทคโนโลยีเครื่องช่วยการเคลื่อนไหวเพิ่มความคล่องตัว  รวมทั้งอุปกรณ์สื่อสาร และอื่น ๆ อีกมากมาย 

ขนาดของตลาดนี้ทั่วโลก คาดว่าจะอยู่ที่ 28 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 และคาดว่าจะสูงถึง 49.48 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 7.4 ระหว่างปี 2565-2573 และจากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ประชากรโลกที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป คาดว่าจะเพิ่มเป็นสามเท่าระหว่างปี 2560 ถึง 2593 โดยเพิ่มขึ้นจาก 137 ล้านคน เป็น 425 ล้านคน จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ตลาดนี้จะขยายตัวและเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน

การเข้าถึงเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงอายุ ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญในการตอบสนองความต้องการของผู้พิการและผู้สูงอายุ
ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามรายงานของสหประชาชาติในปี 2565 การเข้าถึงเทคโนโลยีช่วยเหลือในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางบางประเทศนั้นต่ำถึงร้อยละสาม 

การรับมือกับความท้าทายของประชากรสูงอายุในกลุ่มประเศเอเชียและแปซิฟิก ต้องใช้นโยบายที่มีประสิทธิภาพ โดยนโยบายที่มีอยู่จะต้องได้รับการทบทวนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่เลือกทำงานต่อหลังจากอายุครบเกษียณตามกฎหมาย  หรือการลงทุนในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดหาระบบคลาวด์ที่ช่วยจับคู่งานและงานที่มีทักษะ มีศักยภาพที่ดีเหมาะกับทักษะของผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม ในภูมิภาคเอเชียมีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเอาชนะผลกระทบด้านลบจากแรงงานที่หดตัวและสูงวัย ในขณะเดียวกันก็เพิ่มผลประโยชน์สูงสุดจากการมีอายุยืนยาวเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึงและยั่งยืน

Sources: https://www.who.int/initiatives/decade-of-healthy-ageing, ResearchAndMarkets.com, Next Move Strategy Consulting