ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

อินเทอร์เน็ต มีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตองคนในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าในแง่มุมของการติดต่อสื่อสาร และการอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ชีวิตประจำวันในด้านต่าง ๆ จึงทำให้ผู้บริโภคเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ธุรกิจต่างก็ต้องการจะเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้เพื่ออำนวยความสะดวก และแก้ไขปัญหาของลูกค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีการจับจ่ายใช้สอยของใช้ต่าง ๆ เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

Electronic Commerce (E-Commerce)จึงถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) คือ การทำธุรกิจโดยการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านอินเทอร์เน็ต โดยใช้เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น เป็นสื่อกลางรวบรวมสินค้าและข้อมูลผู้ขายไว้ในเว็บไซต์เดียว เพื่ออำนวยความสะดวกในการ ซื้อ-ขาย ระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขาย ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นในฝั่งของผู้ขายที่สามารถขยายโอกาสในการเข้าถึงลูกค้า เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการจัดซื้อทั้งทางตรงและทางอ้อม

สำหรับผู้ซื้อก็ได้รับประโยชน์ในการที่สามารถเข้าถึงข้อมูลสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา และทั้งยังสามารถเปรียบเทียบราคาระหว่างผู้ขายหลาย ๆ รายเพื่อให้ได้สินค้าที่ดีที่สุด ในราคาที่ดีที่สุด จึงส่งผลให้ตลาด E-Commerce โลกที่มีมูลค่า 3.84 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 มีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่า จะมีการปรับตัวสูงขึ้นถึง 5.87 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2025 ที่อัตราการเติบโต11.58 %ต่อปี

ในอาเซียน อีคอมเมิร์ซมีการเติบโตมากขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนหลาย ๆด้ าน โดยในปี 2017 อาเซียนมีสัดส่วนการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์อยู่ที่ 2.9 % และปรับตัวสูงขึ้นมาเป็น 10.1% ในปี 2021 และคาดการณ์ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 14.4% ในปี 2025 ทั้งนี้ หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซปรับตัวที่สูงขึ้นก็คือ ประชากรในเขตเศรษฐกิจอาเซียนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น จากเดิมที่มีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้เพียง 38.6% ในปี 2017 เติบโตขึ้นเป็น 61% ในปี 2021

ในประเทศไทยธุรกิจ อีคอมเมิร์ซมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีผู้เล่นจากหลากหลายประเทศเข้ามาทำตลาด ไม่ว่าจะเป็น Shopee จากประเทศสิงค์โปร์ และ Lazada ที่มีเจ้าของคือ กลุ่มอาลีบาบาจากประเทศจีน นอกจากนี้ ยังมีการเข้าถึงการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น Facebook และ Line โดยช่องทางการบริการที่คนไทยเข้าถึงมากที่สุดคือ Shopee อยู่ที่ 75.6% จากจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมด ในขณะที่ Lazada อยู่ในอันดับ 2 ที่ 65.5% จากจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมด

สำหรับประเภทของการทำอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ (1) ตลาดค้าปลีกเป็น B2C ในปี 2021 มีมูลค่าประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 57% คือ เกินครึ่งของปริมาณอีคอมเมิร์ซของไทย (2) ตลาด B2B มีมูลค่าการซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซตกอยู่ประมาณ 7 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 22% และสุดท้าย (3) ตลาด B2G เป็นการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ตัวเลขตกอยู่ประมาณ 8 แสนกว่าล้านบาท มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่กว่า 20% ของภาพรวมอีคอมเมิร์ซทั้งประเทศ

นอกจากนี้ จากข้อมูลโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้กล่าวถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในไทยที่ส่งผลให้เกิดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ สะท้อนให้เห็นการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1) พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชีวิตติดกับดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซโตตามไปด้วย 2) การเติบโตของแพลตฟอร์ม Ride-Hailing โดยเฉพาะการส่งอาหารและการสินค้าอุปโภคบริโภค 3) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้น 4) กลยุทธ์การส่งเสริมการขายสินค้าและบริการของแพลตฟอร์ม e-Marketplace ทั้งแคมเปญโปรโมชัน ส่วนลด จัดส่งฟรี รวมทั้งการใช้ข้อมูลลูกค้าบนแพลตฟอร์มให้เป็นประโยชน์ 5) การขยายบริการใหม่ ๆ ของธุรกิจขนส่งสินค้า (Logistics) แบบครบวงจร รวมถึงบริการเกี่ยวกับคลังสินค้าและการจัดส่ง (Fulfilment)

แม้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซจะมีการเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก เพราะมีข้อดีที่ความหลากหลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความท้าทายในด้านต่าง ๆ สำหรับผู้ขายที่ต้องการจะทำธุรกิจในอีคอมเมิร์ซ  เช่น การแข่งขันที่สูงขึ้น จากการที่ลูกค้ามีทางเลือกที่หลากหลาย สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการจากที่ไหนก็ได้

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การบริการจัดส่ง ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะส่วนใหญ่ผู้บริโภคต้องการที่จะให้สินค้าจัดส่งอย่างปลอดภัยถึงบ้านของตนเอง การจัดส่งจึงนับเป็นต้นทุนที่สำคัญในธุรกิจนี้ ผู้ขายจึงต้องเลือกใช้บริการจัดส่งที่เหมาะสม มีความรวดเร็ว และรับประกันคุณภาพสินค้า

และนี่คือความท้าทาย ที่ผู้ประกอบการ อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ให้ความสำคัญ เพราะจะเป็นทั้งโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการบริหารต้นทุนที่จะให้ธุรกิจอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

SOURCES: STATISTA, ETDA, SHOPIFY, PRACHACHAT, THAIPOST