การเติบโตของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในไทย


การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส (โควิด-19) ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ประสบปัญหาการผลิตและการขนส่งหยุดชะงัก ในขณะที่จำนวนสัตว์เลี้ยงกลับเพิ่มสูงขึ้น

เนื่องจากผู้คนต้องทำงานจากที่บ้านในช่วงล็อกดาวน์ หลายคนจึงใช้โอกาสนี้หาสัตว์มาเลี้ยงในครอบครัว  โดยมีรายงานว่า ในช่วงสองสามเดือนแรกของปี 2563 พบว่า มีผู้ต้องการสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น และยังมีผลวิจัยระบุว่า ผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงนอกจากช่วยให้คลายเหงารู้สึกผ่อนคลายแล้วยังทำให้ประสบปัญหาความเหงาและภาวะซึมเศร้าน้อยลง และมีรายงานสนับสนุนข้อมูลดังกล่าวซึ่งได้ตีพิมพ์โดย Mars Petcare ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงชั้นนำ (สุนัขและแมว) ที่ระบุว่า ยอดขายรวมของขนมแมวและสุนัขเติบโตขึ้น 6.5% ในช่วง 12 สัปดาห์ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2563

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการ มีการยกเลิกการล็อกดาวน์  แต่ปริมาณการรับเลี้ยงสัตว์เลี้ยงก็ยังคงมีสูงขึ้น รวมทั้งความต้องการอาหารสุนัขและแมวระดับพรีเมียมเพิ่มขึ้น  จากการที่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาด ทำให้ส่งผลทางบวกต่อยอดขายอาหารสุนัขและแมวทั่วโลก ซึ่งจากการสำรวจจำนวนสัตว์เลี้ยงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 พบว่า 14%  ของผู้ตอบแบบสอบถามในสหรัฐอเมริกาได้สัตว์เลี้ยงตัวใหม่ เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2563  ทำให้ยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงในช่วงดังกล่าวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จากการที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีการซื้ออาหารสุนัขและแมวตุนไว้ในช่วงที่มีการ ล็อกดาวน์ ทำให้ยอดขายของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 136 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2565 และคาดว่าจะเติบโตถึง 10.54% ต่อปี 

ปัจจุบันตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลกได้ถูกแยกออกเป็นอาหารสุนัข อาหารแมวและอื่น ๆ จากการวิเคราะห์รูปแบบตลาดแบ่งออกเป็นแบบแห้ง แบบเปียก ของขบเคี้ยวและขนม ซึ่งในรายงานระบุว่า อาหารแบบแห้งหรืออาหารเม็ด เป็นตัวเลือกที่ดีของอาหารสุนัขและแมวที่เจ้าของต้องการมากที่สุด เนื่องมาจากผลิตภัณฑ์แบบแห้งมีความสะดวกมากกว่าและมีอายุการเก็บรักษาที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับอาหารเปียก และยังเป็นผลดีในการช่วยดูแลสุขภาพฟันของสัตว์เลี้ยงควบคู่ไปกับการรักษาสุขอนามัยทางทันตกรรมของสัตว์เลี้ยง 

นอกจากนี้ กลุ่มขนมและของว่างกำลังกลายเป็นตัวเลือกผลิตภัณฑ์แปลกใหม่สำหรับสัตว์เลี้ยงหลายชนิด เนื่องจากมีรสชาติที่อร่อยและมีคุณภาพที่สูงขึ้น กลุ่มนี้คาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในปีต่อ ๆ ไป เนื่องจากการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของผู้เล่นในตลาด ที่ช่วยกันเปิดตัวเลือกใหม่สำหรับของว่างและของว่างเพื่อสุขภาพที่มีความหลากหลายและดีต่อสุขภาพสำหรับสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

สำหรับตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันในตลาดโลก อเมริกาเหนือถือครองส่วนแบ่งตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงที่ใหญ่  และคาดว่าจะเป็นผู้นำตลาดภูมิภาคนี้ในตลอดระยะเวลาคาดการณ์ ส่วนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาดว่า จะเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในตลาดโลก โดยญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และจีน จะมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ทั่วทั้งภูมิภาค โดยญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าอาหารสุนัขและแมวปรุงสำเร็จชั้นนำทั่วโลก รองลงมาคือ อเมริกาใต้ 

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีนและอินเดียจะมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงระยะเวลาที่คาดการณ์ เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงในประเทศเหล่านี้ 

สำหรับในประเทศไทย สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยงมากที่สุด คิดเป็น 62% ของจำนวนสัตว์เลี้ยงทั้งหมด ตามด้วยแมว คิดเป็น 23%  ทั้งนี้ มีปัจจัยจากอัตราการแต่งงานและอัตราการเกิดที่ลดลง จำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้น เป็นตัวกระตุ้นให้มีการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น และเจ้าของยังถือว่าสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นเป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัว อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของประเทศไทยจึงเติบโตในอัตรา 11% ต่อปีตั้งแต่ปี 2554 มีมูลค่าตลาด 1.27 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 และคาดว่าจะเติบโตปีละ 11.17% (CAGR 2565-2570) 

ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจสัตว์เลี้ยง ทั้งอาหารสัตว์เลี้ยง สัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ โรงพยาบาล/คลินิกสัตว์เลี้ยง อุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง บริการดูแลสัตว์เลี้ยง บริการตัดแต่งขน Pet คอมมูนิตี้มอลล์ สระว่ายน้ำสัตว์เลี้ยง สปาสัตว์เลี้ยง คาเฟ่สัตว์เลี้ยง โรงแรมและรีสอร์ทสัตว์เลี้ยง สวนสัตว์เลี้ยง ประกันสัตว์เลี้ยง และงานศพสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

สำหรับอาหารสัตว์เลี้ยงในตลาดไทยมีตั้งแต่เกรดประหยัดไปจนถึงเกรดพรีเมียม-ซุปเปอร์พรีเมียม โดยผู้บริโภคมองว่า    แบรนด์ต่างประเทศและแบรนด์นำเข้ามีคุณภาพ มาตรฐานการผลิตและนวัตกรรมระดับสูง รวมทั้งความห่วงใยเรื่องสุขภาพสัตว์เลี้ยง เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงมองหาอาหารที่ทำจากวัตถุดิบ และส่วนผสมจากธรรมชาติที่ไม่มีสารเคมีหรือสารเทียม โดยพิจารณาจากรสชาติหรือสี ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่นำเข้าสู่ตลาดจึงมุ่งเน้นไปที่สุขภาพของสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะที่ออกแบบมาสำหรับสายพันธุ์ น้ำหนัก ช่วงชีวิต และกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรม เช่น อาหารตามใบสั่งแพทย์ อาหารเสริม อาหารเพื่อการรักษา สัตว์เลี้ยงที่มีน้ำหนักเกินและสัตว์เลี้ยงมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ปอด ไต ผิวหนัง ฯลฯ

ทั้งนี้สรุปได้ว่า ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยจะยังคงเติบโตได้ดีโดยเฉพาะในกลุ่มพรีเมี่ยม และแบรนด์ไทยมีโอกาสเข้าสู่ตลาด สร้างส่วนแบ่งการตลาดโดยเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เกรดพรีเมียม เน้นอาหารเพื่อการรักษาสูตรคลินิกและการแพทย์ ในราคาที่ประหยัดถูกกว่าแบรนด์ต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้าของสัตว์เลี้ยง ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมาพฤติกรรมของเจ้าของสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงตลอด โดยสัตว์เลี้ยงได้รับการปฏิบัติเหมือนสมาชิกในครอบครัวหรือเด็ก การเปลี่ยนแปลงทางความคิดนี้ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้นผลักดันความต้องการสินค้าพรีเมียมและซุปเปอร์พรีเมียมจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Sources :  Statista, Hypercube Insight, Mars Petcare, Thai Pet Food Trade Association